คำสันธาน
คำสันธาน คือ คำที่ทำหน้าที่เชื่อมคำกับคำ ประโยคกับประโยค ข้อความกับข้อความ เพื่อแสดงความคล้อยตาม ความขัดแย้งเหตุผล หรือเชื่อมความให้สละสลวย
หน้าที่ของคำสันธาน
1. เชื่อมคำกับคำ ผักกาดและหัวหอมเป็นพืชสวนครัว เธอชอบสีแดงหรือสีส้ม
2. เชื่อมข้อความกับข้อความการส่งเสียงดังในห้องสมุดเป็นการกระทำที่ไม่ดีรบกวนผู้อื่นเพราะฉะนั้นจึงต้องมีกฎห้ามส่งเสียงดังติดประกาศไว้ คนเราต้องการอาหาร เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรคด้วยเหตุนี้เราจึงจำเป็นต้องประกอบอาชีพเพื่อให้ได้เงินมาซื้อสิ่งจำเป็นเหล่านี้
3. เชื่อมประโยคกับประโยคพี่เป็นคนขยันแต่น้องเกียจคร้านมาก เราหวงแหนแผ่นดินไทยอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของเรา
4. เชื่อมความให้สละสลวยคนเราก็ต้องมีผิดพลาดกันบ้างเป็นธรรมดา ฉันก็เป็นคนจริงคนหนึ่งเหมือนกัน
ชนิดของคำสันธาน
1. เชื่อมใจความที่คล้อยตามกัน ได้แก่คำว่า กับ , และ , ทั้ง…และ ,ทั้ง…ก็ , ครั้น…จึง , พอ…ก็ ฯลฯ
ภราดรและแทมมี่เป็นนักกีฬาที่มีความสามารถ พอพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าฝูงนกก็บินกลับรัง
ภาพยนตร์เรื่องนี้ทั้งผู้กำกับและนักแสดงได้รับค่าตอบแทนสูง
2. เชื่อมใจความที่เป็นเหตุเป็นผลกัน ได้แก่คำว่า จึง , ครั้น…จึง , พอ…ก็ ฯลฯพอเขากล่าวปาฐกถาทุกคนก็ตั้งใจฟัง ป่าไม้หมดไปโลกจึงเกิดความแห้งแล้ง เขาพูดภาษาอังกฤษได้คล่อง เนื่องจากฝึกฝนตนเองอยู่เสมอ
3. เชื่อมใจความที่ขัดแย้งกัน ได้แก่คำว่า แต่ , ถึง…ก็ , กว่า…ก็ , แต่ทว่า , แม้…ก็ ฯลฯ
สังคมมุ่งพัฒนาด้านวัตถุแต่ด้านจิตใจขาดการสนใจ ถึงฉันจะลำบาก ฉันก็ไม่ยอมทำชั่วเป็นอันขาด
แม้เขาจะมีร่างกายไม่แข็งแรง เขาก็มีจิตใจแข็งแกร่ง
4. เชื่อมใจความที่ให้เลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่คำว่า หรือ , หรือไม่ก็ , ไม่เช่นนั้น , มิฉะนั้นก็ , ไม่…ก็ ฯลฯโรงเรียนในเมืองหรือในชนบทต้องการอาจารย์ผู้มีความรู้ ง่วงก็นอนเสียหรือไม่ก็ลุกขึ้นไปล้างหน้า ไม่วันเสาร์ก็วันอาทิตย์เจนจะมาบ้านเรา
ข้อสังเกต
1. คำสันธานบางคำใช้เข้าคู่กัน เช่น ไม่…ก็ , กว่า…ก็ , เพราะ…จึง , ถึง…ก็ , แม้…ก็ เป็นต้น
2. คำสันธานอาจอยู่ในตำแหน่งต่างๆในประโยคก็ได้ เช่น
อยู่ระหว่างคำ : อีฟชอบสีม่วงและสีขาว
อยู่หลังคำ : คนก็ดี สัตว์ก็ดี รักชีวิตด้วยกันทั้งนั้น
อยู่คร่อมคำ : ถึงเป็นเพื่อนก็อย่าวางใจ
อยู่ระหว่างประโยค : ตูนจะดื่มน้ำส้มหรือดื่มนม
อยู่หลังประโยค : เราจะทำบุญก็ตาม บาปก็ตาม ควรคิดถึงผลกรรม
อยู่คร่อมประโยค : แม้เต้จะกินมากแต่เต้ก็ไม่อ้วน
3. ประโยคที่มีคำสันธานนั้นจะแยกออกเป็นประโยคย่อยได้ตั้งแต่ 2 ประโยคขึ้นไป
4. คำบางคำเป็นได้ทั้งคำสันธานและคำบุพบท เช่น คำว่า “เมื่อ” ให้พิจารณาว่าถ้าสามารถแยกเป็น 2 ประโยคได้ก็เป็นคำสันธาน เช่น “เมื่อ 16 นาฬิกา อาร์ทได้ออกจากโรงเรียนไปแล้ว” ( เป็นคำบุพบท ) “เมื่อเราได้ยินเสียงระฆัง หมวยได้ออกจากโรงเรียนไปแล้ว” ( เป็นคำสันธาน ) เป็นต้น
5. คำว่า “ให้” เมื่อนำมาใช้เชื่อมประโยคก็จัดเป็นคำสันธาน เช่น “เขาทำท่าตลกให้เด็กหยุดร้องไห้” เป็นต้น
6. คำว่า “ว่า” เมื่อนำมาใช้เชื่อมระหว่างประโยคก็จัดเป็นคำสันธาน เช่น “หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่ามีการกวาดล้างพวกมิจฉาชีพครั้งใหญ่” เป็นต้น
7. คำประพันธสรรพนามหรือคำสรรพนามเชื่อมประโยค คือ คำว่า “ผู้ ที่ ซึ่ง อัน” จัดเป็นคำสันธานด้วย
สตรีผู้มีความงามย่อมเป็นที่สนใจของคนทั่วไป คนที่กำลังเล่นกีตาร์นั่นเป็นพี่ชายของวี
ฝ้ายอยู่ในตลาดซึ่งมีคนพลุกพล่าน